แชร์

"ม.เกษตรศาสตร์" เปิดตัว "พันธุ์กลายไม้น้ำ อนูเบียส มินิมา” 4 พันธุ์ จากการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา

อัพเดทล่าสุด: 19 มิ.ย. 2025
97 ผู้เข้าชม

เปิดตัว "พันธุ์กลายไม้น้ำ อนูเบียส มินิมา" 4 พันธุ์ ที่ได้จากการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา ผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 19 มิถุนายน 2568 รศ.ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบพันธุ์กลายไม้น้ำอนูเบียสมินิมา ผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ให้แก่กรมประมง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม้น้ำอนูเบียสพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80-1 เกษตรศาสตร์ 80-2 เกษตรศาสตร์ 81-1 และเกษตรศาสตร์ 81-2 เป็นพันธุ์กลายที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์โดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์โดยการฉายรังสีแกมมาแบบโครนิกในปี พ.ศ. 2558 ที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการขยายพันธุ์และคัดเลือกลักษณะกลาย จนต่อมาในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการวิจัย การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ: การปรับปรุงพันธุ์โดยการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมาจากต้นกำเนิดรังสีใหม่ซีเซียม-137 จึงได้มีการคัดแยกลักษณะกลายและทดสอบความคงตัว จนได้พันธุ์กลายที่คงตัว 4 พันธุ์ ได้รับการรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ในนาม มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ โดยทีมนักวิจัยประกอบด้วย รศ.ดร.พีรนุช จอมพุก นางสาวมยุรี ลิมติยะโยธิน นางสาวณัฐ์นิชภู สุกิน นางสาวลักษมณ สร้อยทอง และ รศ.ดร.ชูศักดิ์ จอมพุก

การคัดเลือกลักษณะกลายได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2566 จึงคัดเลือกและแยกลักษณะกลายที่มีความสม่ำเสมอและคงตัวได้จำนวน 4 พันธุ์ และตั้งชื่อพันธุ์ว่า เกษตรศาสตร์ 80-1 (ใบด่างเขียวเข้มเขียวอ่อน), เกษตรศาสตร์ 80-2 (ใบด่างสีขาวเขียวเข้ม), เกษตรศาสตร์ 81-1 (ใบด่างเขียวอ่อนเหลือง) และ เกษตรศาสตร์ 81-2 (ใบด่างเขียวอ่อนขาว) เนื่องจากเป็นปีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบ 80 และ 81 ปีตามลำดับ

สำหรับ ไม้น้ำอนูเบียสมินิมาพันธุ์กลายมีลักษณะเด่นคือ มีใบด่างสวยงาม แต่ละพันธุ์มีรูปแบบการด่างและสีของใบที่แตกต่างกัน การเจริญเติบโตช้า ทำให้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนและล้างตู้ไม้น้ำบ่อย ขนาดต้นเล็ก กะทัดรัด เหมาะสำหรับใช้ประดับตกแต่งตู้ไม้น้ำหรือตู้ปลา เพิ่มความสวยงามและความสว่าง ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์เดิมที่มีใบสีเขียวเข้ม

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ขยายผลงานวิจัย และส่งต่อผลผลิตจากงานวิจัย สู่หน่วยงาน เพื่อขยายผลสู่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจนำพันธุ์ไม้น้ำอนูเบียสพันธุ์กลายมินิมา ทั้ง 4 พันธุ์ไปขยายพันธุ์เพื่อผลิตและจำหน่ายต่อไป จึงได้มอบไม้น้ำอนูเบียสมินิมาพันธุ์กลายดังกล่าวให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการกระจายพันธุ์ สู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงไม้น้ำ รวมถึงผู้ประกอบการต่อไป

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy